
แชร์เรื่องนี้
ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเอเชีย อย่างเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคมนี้ ณ นครหางโจว ประเทศจีน โดยบางชนิดกีฬาจะเริ่มทำการแข่งขันก่อนตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 อาทิ วอลเลย์บอลชายหาด วอลเลย์บอลทีมชาย และฟุตบอลชาย เป็นต้น
เชื่อว่าแฟนกีฬาสอยคิวจำนวนไม่น้อย คงรู้สึกใจหายไปตามๆกัน ที่หางโจวเกมส์คราวนี้ นับเป็นเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 3 ติดต่อกันเข้าให้แล้ว ที่ไม่มีชนิดกีฬาคิวสปอร์ต (สนุกเกอร์,บิลเลียด,พูล และแครอมบอล) อยู่ในสารบบชิงเหรียญทอง ต่อจากเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2014 และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ณ กรุงจาการ์ตากับเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย
หนสุดท้าย ที่กีฬาแม่นรูยังชิงชัยในมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย ต้องย้อนกลับไป ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 10 ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน ในปี 2010 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้วเลยทีเดียว และยังไม่รู้ว่า ต้องรออีกนานแค่ไหน กีฬาคิวสปอร์ตถึงจะได้รับการบรรจุ ให้เข้าสู่การชิงเหรียญทอง ในกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้ง
เรื่องนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต กว่าที่กีฬาแม่นรูจะเข้าบรรจุในเอเชียนเกมส์ได้นั้นมันไม่ง่ายเลย
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในช่วงต้นของยุค 90 สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย(OCA) ได้มีมติให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ในปี 1998 ณ เพลานั้น สนุกเกอร์กำลังบูมสุดขีดในบ้านเรา จากผลงานของ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม ซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรก ที่ทำผลงานได้ผงาดวงการคิวโลก จนขึ้นไปครองอันดับ 3 ของโลกมาแล้ว
ทำให้ “บิ๊กสิน” สินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น ได้ทุ่มเททุกสรรพกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้สนุกเกอร์ถูกบรรจุในเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าวให้ได้ ก่อนจะทำได้สำเร็จ โดยสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้มีข้อแม้ว่า ต้องบรรจุบิลเลียด, พูล และแครอมบอลเข้ามาด้วย เนื่องจากอยู่ในหมวดหมู่กีฬาคิวสปอร์ตเหมือนกัน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กีฬาแม่นรูถูกบรรจุชิงชัยในเอเชียนเกมส์ถึง 4 ครั้ง ประกอบด้วยเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเมื่อปี 1998, เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้, เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 ณ นครกวางโจว ประเทศจีน ในปี 2010
ทว่าพอถึงปี 2012 จุดเปลี่ยนสำคัญได้มาถึง เมื่อคุณสินธุ ที่ช่วงนั้นนั่งเก้าอี้ประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชียมาแล้วถึง 6 สมัย ต้องเสียตำแหน่งนี้ให้กับ ฮารี่ คูนี่ คู่แข่งจากจอร์แดนไปอย่างพลิกล็อก หลังแพ้คะแนนโหวตไป 11-16 เสียง ในการเลือกตั้งประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชีย(ACBS) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หลายชาติย่านตะวันออกกลางที่ร่ำรวยกันอยู่แล้ว ได้รวมหัวกันโค่น “บิ๊กสิน” ด้วยการซื้อเสียงจากชาติสมาชิกเพื่อให้ ฮารี่ คูนี่ แย่งตำแหน่งประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชียมาจากคุณสินธุให้ได้ ก่อนจะทำได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเม็ดเงินมหาศาลแต่ ฮารี่ คูนี่ และพวกพ้องหลายชาติแห่งย่านตะวันออกกลาง กลับบริหารงานไม่เป็น ปล่อยให้กีฬาคิวสปอร์ตหลุดจากเอเชียนเกมส์ โดยถูกลดสถานะให้มาชิงชัยในกีฬาเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์เท่านั้น
แม้จะเป็นมหกรรมกีฬาของทวีปเอเชียเหมือนกัน แต่เอเชียนเกมส์มีศักดิ์ศรีเหนือกว่ามาก อีกทั้งอัตราการได้เงินอีดฉีดจากกองทุนพัฒนากีฬาชาติของทัพนักกีฬาไทย แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวนรก โดยเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ถึง 2 ล้านบาท, เหรียญเงิน 1 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 5 แสนบาท
ขณะที่เหรียญทองเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์เกมส์ ได้เพียง 3 แสนบาท, เหรียญเงิน 1.5 แสนบาท และเหรียญทองแดง 75,000 บาท ซึ่งเป็นเรตเดียวกับการคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาซีเกมส์ ทั้งๆที่ในเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์ เป็นเวทีที่ยากกว่าหลายเท่า
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าคนในวงการสอยคิว และสาวกกีฬาแม่นรูจำนวนไม่น้อย ต่างรู้สึกน้อยใจไปตามๆกัน ที่คิวสปอร์ต (สนุกเกอร์, บิลเลียด, พูล และแครอมบอล) ไม่ได้ชิงชัยในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่กำลังจะอุบัติขึ้น เหมือนดั่งชนิดกีฬาอื่นเขา
ได้แต่หวังลึกๆว่า เอเชียนเกมส์ครั้งถัดไปในปี 2026 ณ เมืองนาโกย่า-ไอจิ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ จะกลับมาบรรจุกีฬาคิวสปอร์ตเข้าชิงชัยอีกครั้ง ซึ่งยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะในแดนอาทิตย์อุทัย นิยมเล่นพูลกัน และในทัวร์นาเมนต์พูลระดับนานาชาติหลายรายการ ก็มีนักแทงลูกลายเลือดซามูไรไปแข่งขันกันหลายคน
เอเชียนเกมส์ครั้งถัดจากนั้นในปี 2030 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เริ่มจะมีแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ เนื่องจาก มูบารัค อัล คายาริน ประธานสหพันธ์บิลเลียดและสนุกเกอร์นานาชาติ(IBSF) ซึ่งเป็นชาวกาตาร์ ได้ประกาศกร้าวแล้วว่า จะทำทุกวิถีทาง ในการผลักดันให้กีฬาแม่นรู กลับเข้ามาอยู่ในสารบบชิงเหรียญทอง ในเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าวที่บ้านเกิดของตัวเองให้ได้
แม้จะต้องรอนานอีกหลายปี แต่อย่างน้อยสาวกคิวสปอร์ตทั้งหลาย ยังพอได้รับข่าวดี และมีโอกาสได้เห็นกีฬาแม่นรู กลับมาชิงชัยในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้ง
สำหรับผลงานที่ดีที่สุดของทัพนักสอยคิวไทย ในกีฬาเอเชียนเกมส์ คือการคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง ประกอบด้วย 2 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2002 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้จาก “รมย์ สุรินทร์” ประพฤติ ชัยธนสกุล จากบิลเลียดเดี่ยว, “รมย์ สุรินทร์” ประพฤติ ชัยธนสกุล กับ “ตึ้ก โคราช” มงคล กั้นฝากลาง จากบิลเลียดคู่ และ 1 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์จาก “รมย์ สุรินทร์” ประพฤติ ชัยธนสกุล กับ “ดร เมืองชล” อุดร ไข่มุกข์ จากบิลเลียดคู่
เรียกได้ว่าทั้ง 3 เหรียญทอง “รมย์ สุรินทร์” เจ้าของฉายา “ก้มเป็นลง” ในอดีต มีเอี่ยวทั้งหมด ขณะที่การคว้าเหรียญทองบิลเลียดคู่ในเอเชียนเกมส์ 2002 ยังทำให้ “ปู่ตึ้ก โคราช” ที่ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นนักกีฬาที่อายุมากที่สุด ที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์อีกด้วย ด้วยวัย 72 ปี ปัจจุบันสถิตินี้ยังไม่ถูกทำลาย
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa
แชร์เรื่องนี้ Share on fa